แหล่งรวมซอฟต์แวร์ และบทความไอที สาระน่ารู้ทั่วไปที่น่าสนใจ

Aphasia คือภาวะของสมองถึงขั้นอันตรายหรือไม่ที่คุณควรรู้

Aphasia คือภาวะของสมองถึงขั้นอันตรายหรือไม่ที่คุณควรรู้

โดย พ.ญ. ศิริกัญญา รุ่งเรือง

ภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร หรือ อะเฟเซีย (Aphasia) คือภาวะที่มีปัญหาของการฟัง พูด อ่าน หรือ เขียน ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากพยาธิสภาพ หรือความผิดปกติในสมองส่วนที่ควบคุมเรื่องภาษา โดยในส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่บริเวณสมองซีกซ้าย ไม่ว่าจะทำงานฟรีแลนซ์ พนักงานประจำ ก็สามารถเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นได้วันนี้เราจะมาทำความรู้จักและหาสาเหตุกัน

ประเภทของภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร

การสื่อสาร คือการแลกเปลี่ยนข้อมูล ได้แก่ การรรับสาร การแปลความหมาย และการส่งสาร โดยอาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละรายก็จะมีความรุนแรง และความผิดปกติแตกต่างกันออกไป

  1. กลุ่มฟังไม่เข้าใจ โดยเมื่อไม่เข้าใจจะไม่สามารถตอบโต้ได้ตรงกับคำถาม หรือเมื่อถูกถามจะงง ไม่สามารถสื่อสารตอบกลับมาได้ เช่น การพูด หรือการตอบไม่ตรงคำถาม หรือทำตามคำบอกไม่ได้ เช่น บอกให้ยกมือ หรือกำมือ ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำตามได้
  2. กลุ่มมีปัญหาด้านการพูด มีความรุนแรงตั้งแต่พูดไม่คล่อง พูดได้เป็นคำ ๆ พูดติดขัด เรียงประโยคผิด พูดตามไม่ได้ ไปจนถึงพูดไม่ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจนึกคำไม่ออก เช่น คำว่า แก้วน้ำ อาจบอกว่าเป็นอะไรที่เอาไว้ใส่น้ำ หรือ ข้าวสวย ก็อาจพูดว่าที่เป็นเม็ดขาว ๆ หลาย ๆ เม็ด เอาไว้ทาน เป็นต้น หรือบางรายอาจมีความผิดปกติทั้งสองทาง คือทั้งการรับสาร และสื่อสารทำให้ฟังไม่เข้าใจ และพูดตอบไม่ได้
  3. กลุ่มอ่านไม่เข้าใจ หรือพิมพ์ไม่ได้ หรือมีปัญหาด้านการอ่านการเขียนในผู้ป่วยที่เคยอ่านออกเขียนได้ เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถเชื่อมเสียงกับตัวอักษาได้ เห็นตัวอักษร หรือคำ แล้วอ่านไม่ออก

สาเหตุของภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร

ตามความจริงแล้วภาวะนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุที่ทำให้เนื้อสมองที่ควบคุมเกี่ยวกับการพูด และความเข้าใจถูกทำลาย ได้แก่

  1. โรคหลอดเลือดสมอง ทั้งเส้นเลือดสมองตีบ ตัน หรือแตก หรือที่รู้กันกันในชื่อ Stroke
  2. โรคเนื้องอกในสมอง โดยมีก้อน หรือเนื้องอกไปกดทับทำให้เกิดความผิดปกติในส่วนของสมองซีกซ้าย ภาวะติดเชื้อ หรืออุบัติเหตุทางสมอง
  3. กลุ่มโรคอัลไซเมอร์ บางครั้งอาจพบภาวะคิดคำไม่ออก

โดยแพทย์สามารถวินิจฉัย และหาสาเหตุของโรคได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมถึงการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง การเจาะน้ำไขสันหลังในรายที่สงสัยการติดเชื้อ เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป

ภาวะบกพร่องทางการสื่อสารมีวิธีรักษาอย่างไร

การรักษาภาวะบกพร่องทางการสื่อสารจะรักษาตามสภาพของโรค เช่น หากเกิดจากภาวะหลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือดอย่างทันท่วงที หากไปโรงพยาบาลภายใน 4.5 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

หากเกิดจากเนื้องอกสมอง สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด

หากเกิดจากภาวะติดเชื้อ สามารถรักษาได้โดยการให้ยาฆ่าเชื้อที่จำเพาะต่อเชื้อนั้น ๆ นอกจากนี้ ยังมีวิธีการฝึกการพูด และการใช้ภาษา โดยทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกิจกรรมบำบัด และนักอรรถบำบัด เพื่อแก้ไขปัญหาความบกพร่องทางการสื่อสาร

โดยการฝึกผู้ป่วยที่มีภาวะบกพรองทางการสื่อสาร จะฝึกตามปัญหาที่เกิดกับผู้ป่วย โดยเน้นการฝึกซ้ำ ๆ ให้ผู้ป่วยหัดทำบ่อย ๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้

  1. ฝึกฟัง เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจสิ่งที่คนรอบข้างพูด เริ่มจากฝึกฟังแล้วให้ทำตามคำสั่ง เช่น กำมือ แบมือ ให้จับอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงอาจให้ทำเลียนแบบ เช่น กำมือ แบมือ ทำซ้ำ ๆ จะทำให้คนไข้พอเข้าใจมากขึ้น
  2. ฝึกนึกคำ เริ่มจากการใช้ของจริงก่อน เพื่อให้คนไข้ได้สัมผัสสิ่งของนั้น ๆ เช่น ให้ดูนาฬิกา ปากกา กระดาษ เป็นต้น ถ้าผู้ป่วยคิดคำไม่ออก ผู้ฝึกอาจใบ้คำแรกเพื่อช่วยผู้ป่วยได้
  3. ฝึกพูดเพื่อโต้ตอบกับคนรอบข้าง โดยฝึกคำถามทั่ว ๆ ไปที่ผู้ป่วยคุ้นเคย เช่น ถามชื่อ หรือมีบทสนทนาทั่วไป เช่น ทานข้าวหรือยัง ทานอะไร อยู่ที่ไหน โดยค่อย ๆ ถามทีละคำถามช้า ๆ ถ้าผู้ป่วยนึกคำไม่ออก อาจช่วยใบ้พยางค์แรก หรือให้พูดตาม เป็นต้น การฝึกพูดตามอาจใช้สถานการณ์ช่วยได้ เช่น เวลาทานข้าวด้วยกัน ก็จะพูดไปด้วยว่า “กิน” พอผู้ฝึกทำซ้ำ ๆ ผู้ป่วยก็จะเข้าใจคำพูดนั้นมากขึ้น หลังจากนั้นจะสามารถพูดคำว่า “กิน” ได้ระหว่างที่กำลังทานข้าว โดยเมื่อทำได้แล้วก็ให้พูดว่า “กินข้าว” โดยเพิ่มเป็นสองพยางค์ หรือต่อมาจะค่อย ๆ เพิ่มเป็นประโยคที่ยาวขึ้น เช่น “ตักข้าวกิน” สถานการณ์เหล่านี้จะช่วยส่งเสริมความเข้าใจของผู้ป่วยด้วย
  4. ฝึกอ่านเขียน เริ่มตั้งแต่ทำความรู้จักตัวอักษร สระ วรรณยุกต์ตัวสะกด หลังจากนั้นให้อ่านสะกดคำ เช่น กอ อิ นอ กิน เป็นต้น การเขียน อาจเริ่มจากสิ่งที่คุ้นเคย เช่น เขียนชื่อของผู้ป่วย แต่ในผู้ป่วยสูงอายุที่ปกติไม่ค่อยได้ใช้การอ่านหรือการเขียน แพทย์อาจเน้นการฟังหรือการพูดมากกว่า

วิธีป้องกันภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร

การป้องกันภาวะบกพร่องทางการสื่อสารสามารถทำได้โดยการรักษาโรคประจำตัวต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ออกกำลังกายเป็นประจำ และที่สำคัญ หากมีอาการเกิดขึ้นแบบฉับพลันควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที หรือหากคนรอบข้างมีการพูดคุยที่ผิดปกติดังที่กล่าวมา ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เช่นกัน

Cr.gj.mahidol