แหล่งรวมซอฟต์แวร์ และบทความไอที สาระน่ารู้ทั่วไปที่น่าสนใจ

ทำความเข้าใจและรู้จักกับ Calling งานรักที่ใช่ ที่ไม่ได้เป็นแค่อาชีพ

ทำความเข้าใจและรู้จักกับ Calling งานรักที่ใช่ ที่ไม่ได้เป็นแค่อาชีพ

“ถ้าคุณเจองานที่ใช่ คุณจะไม่ต้องรู้สึกเหมือนต้องทำงานอีกเลยทั้งชีวิต” เป็นประโยคเด็ดที่ไว้คอยย้ำเตือนให้เราค้นหาสิ่งที่รัก แล้วนำมาเป็นอาชีพจนเป็น ฟรีแลนซ์ เองก็ได้เลยนะ แต่จะมีซักกี่คนที่จะไปถึงจุดที่ได้ทำงานที่รัก อาจด้วยความเร่งรีบในสังคมปัจจุบัน ที่ทุกคนต้องหาเงินให้ได้เยอะ ๆ เร่งประสบความสำเร็จให้ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อมาตอบสนองไลฟ์สไตล์ตามระบบทุนนิยม ตามแบบค่านิยม “ชีวิตดี ๆ ที่เงินซื้อได้” ทำให้หลายคนละเลยที่จะตามหางานที่ใช่ ก้มหน้าก้มตาทำงานที่มีอยู่เพื่อแลกมากับเงินเดือนไว้ใช้จ่ายในชีวิต นานวันเข้าก็พาตัวเองเข้าสู่จังหวะชีวิตที่รู้สึก “Burn out” ไม่อยากตื่นขึ้นมาทำงานเอาซะดื้อ ๆ เราเลยอยากชวนคุณมาตามหา “Calling” งานรักที่ใช่ ที่ไม่ได้เป็นแค่อาชีพไว้คอยหาเลี้ยงปากท้องเท่านั้น แต่ยังเป็นงานที่เติมเต็มชีวิตและจิตใจของคุณไปพร้อม ๆ กัน

Job, Career และ Calling

ก่อนจะไปตามหา Calling อยากให้คุณมาทำความรู้จักกับคำว่า “งาน” ให้มากขึ้นกว่าเดิมผ่านคำ 3 คำ นั้นคือ Job, Career และ Calling ซึ่งถูกแบบตามผลงานวิจัยเกี่ยวกับการงานและอาชีพของ Dr. Amy Wrzesniewski อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ให้คำจำกัดความของ 3 คำนี้ไว้ได้อย่างน่าสนใจ

Job หรือ งาน คือ สิ่งที่เราทำเพื่อแลกกับเงิน รายได้ไว้ไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือผลประโยชน์บางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการ หรือฐานะทางสังคมที่ได้มาจากงานนั้น ๆ โดยที่ไม่ต้องสนว่างานที่ทำนั้นจะเชื่อมโยงกับคุณค่าอื่น ๆ ในชีวิต เช่น ความสุข หรือความรู้สึกที่ได้พัฒนาตัวเอง ซึ่งคนกลุ่มที่บอกว่างานที่ตัวเองทำเรียกว่า Job มักจะโฟกัสไปที่รายได้ที่ได้มาเอาไปใช้จ่ายซื้อความสุขอื่น ๆ ในชีวิต เช่น หาเงินเพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ใช้เงินซื้อความสบายอื่น ๆ หรือใช้เงินไปกันงานอดิเรกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานในวันหยุด ซึ่งคนกลุ่มนี้มักจะดีใจเมื่อถึงวันหยุด และจะไม่ได้สนใจที่จะเพิ่มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญของตัวเองผ่านงานที่ทำอยู่เท่าใดนัก

Career หรือ อาชีพ คือ สิ่งที่เราทำเพื่อแลกกับเงิน คล้ายกับ Job แต่ Career จะแตกต่างออกไปตรงที่ คนที่มองงานว่าเป็น “อาชีพ” มักจะมีการตั้งเป้าหมายในความสามารถของตัวเอง อยากพัฒนาความสามารถตัวเองให้มีความเชี่ยวชาญในงานนั้น ๆ มักจะมีแรงขับเคลื่อนที่อยากจะเพิ่มโอกาสให้กับตัวเอง อยากทำให้หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานเห็นความสามารถของตัวเอง อยากหาโอกาสเพื่อแสดงความสามารถและเติบโตในงาน มีวิสัยทัศน์ต่อความก้าวหน้าของตัวเองในระยะยาว

Calling หรือ งานที่รัก คือ สิ่งที่เป็นทั้งงานและอาชีพ พร้อมเติมเต็มความสุขในชีวิตระหว่างทำงานนั้น ๆ เป็นงานที่เชื่อมโยงกับตัวคุณเองในทุกมิติ มีความสัมพันธ์ลึกซ้ำทั้งทางด้านส่วนตัวและอารมณ์ ทำให้รู้สึกกระตือรือร้นอย่างทำงาน และอยากพัฒนาตัวเอง และประสบการณ์เพื่อที่จะได้ทำงานนั้นได้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิม รู้สึกว่างานนี้เข้ามาเติมเต็มชีวิต แม้จะต้องเจอเรื่องยากลำบากในระหว่างทำงานก็พร้อมมีแรงใจที่จะฝ่าฟันแก้ปัญหาได้ ซึ่งหากใครได้เจองานที่เป็น Calling แล้วมักจะมีความพึงพอใจในงานของตัวเองเป็นอย่างมาก จะไม่ได้ทำงานเพื่อเงินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่งานจะเข้ามาให้คุณค่าในชีวิตของตัวเองด้วย จนทำให้เกิดความรู้สึกที่อยากตื่นไปทำงานในทุก ๆ วัน เพราะงานได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตอย่างสมบูรณ์แล้ว

3 องค์ประกอบของ Calling หรือ งานที่รัก

  1.     งานที่ทำแล้วมีความสุข

หลายคนคิดว่างานที่ทำแล้วมีความสุข คือ งานที่ไม่ทำให้เครียดหรืองานที่ไม่ทำให้รู้สึกลำบาก แต่ในความเป็นจริงแล้วงานที่ทำให้มีความสุขก็อาจจะสร้างความเครียดให้กับคุณได้ เพราะงานทุกงานย่อมมีปัญหาให้เราได้แก้เป็นเรื่องปกติ แต่มุมมองของคุณต่อปัญหาและความยากลำบากของงานจะเปลี่ยนไป เพราะหากเป็นงานที่คุณทำแล้วมีความสุขแล้ว เมื่อมีปัญหาเข้ามาคุณจะมองว่านี้คือความท้าทายใหม่ ๆ ในงาน คุณจะรู้สึกสนุกที่จะได้แก้ปัญหานั้น ๆ หรือมีความมุ่งมั่นทุ่มเทที่จะแก้ปัญหา และทำให้งานออกมาดีได้ แม้จะมีความยากลำบากระหว่างทางบ้าง คุณจะรู้สึกถึงความมุ่งมั่นของตัวคุณเองแม้ว่าเวลานั้นจะอยู่นอกเวลางานก็ตาม

  1.     งานที่มีความหมาย

นอกเหนือไปจากค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินแล้ว ความรู้สึกภูมิใจและมีคุณค่า คืออีกหนึ่งดัชนีชี้วัดว่างานที่คุณทำอยู่เป็นงานที่มีความหมายสำหรับตัวคุณเอง และถ้างานงั้นเป็นงานสามารถส่งต่อคุณค่าหรือสร้างบางสิ่งบางอย่างให้กับสังคมที่คุณอยู่ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นการทำงานให้งานนั้นมีความหมายมากขึ้นกว่าเดิม เพราะคุณจะตระหนักได้ว่า งานที่คุณทำอยู่คุณไม่ได้ทำเพื่อตัวคุณเองคนเดียว และยังช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้กับคนรอบข้างหรือสังคมที่คุณอยู่ด้วย และนี่เองจะช่วยทำให้คุณอยากที่จะพัฒนาความสามารถในการทำงานของคุณให้ดียิ่งกว่าเดิม

  1.     มีรายได้เพียงพอ

ถึงแม้เงินจะซื้อไม่ได้ทุกอย่าง แต่หลายอย่างในชีวิตที่คุณอยากได้ก็ต้องใช้เงินซื้อ ซึ่งถึงเราจะบอกว่า คนที่ทำงานที่รักจะไม่ได้คำนึงถึงจำนวนรายได้เป็นสำคัญ แต่งานที่รักก็จำเป็นจะต้องนำมาซึ่งรายได้ที่ทำให้คุณสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตของคุณเอง จึงจะเรียกได้ว่า งานที่รัก ที่เติมเต็มทั้งชีวิตและจิตใจอย่างแท้จริง

Cr. Jobs