แหล่งรวมซอฟต์แวร์ และบทความไอที สาระน่ารู้ทั่วไปที่น่าสนใจ

Headache อาการเวียนหัว หรือ อาการวิงเวียนศีรษะ สาเหตุเล็กๆ ที่มองข้ามกัน

Headache อาการเวียนหัว หรือ อาการวิงเวียนศีรษะ สาเหตุเล็กๆ ที่มองข้ามกัน

อาการเวียนหัว หรือ อาการวิงเวียนศีรษะ สามารถอธิบายเป็นความรู้สึกได้ที่หลากหลาย (Headache) เช่น อาการมึนงงบ้านหมุน หรือสิ่งรอบตัวแกว่งไปมาอย่างยุ่งเหยิง มีเสียงในหูอื้อๆ จนถึงความรู้สึกเบาหวิวจนเป็นลมวูบหมดสติไป และเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายอาการวิงเวียนหัวของแต่ละบุคคล โดยสาเหตุการเกิดอาการเวียนหัวมีมากมายจึงไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดจากการสังเกต จึงต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ สาเหตุของอาการเวียนหัวสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ สาเหตุที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน และสาเหตุที่เกิดจากความผิดปกติภายใน

สาเหตุที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน
ร่างกายขาดน้ำ
การขาดน้ำหรือดื่มน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ความร้อนภายในร่างกายสูงเกินไป และส่งผลทำให้ของเหลวภายในระบบโลหิตมีปริมาณน้อย จะส่งผลให้เลือดหนืด ก่อให้เกิดความดันโลหิตสูงและทำให้เกิดอาการเวียนหัว

ขาดธาตุเหล็ก
การขาดธาตุเหล็กอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ซึ่งทำให้ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงที่มีลักษณะไม่สมบูรณ์หรือมีปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อร่างกาย จึงไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจเกิดจากการกินอาหารที่ขาดส่วนประกอบของธาตุเหล็ก

ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
จะทำให้เกิดอาการเวียนหัวไปจนถึงขั้นเป็นลมหน้ามืดได้ อาจเกิดจาการอดอาหารหรือกินอาหารไม่ตรงเวลา ความไม่สมดุลของฮอร์โมน การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

อาการเมารถ
การอยู่ในยานพาหนะ เช่น รถยนต์ เครื่องบิน หรือเรือ สามารถรบกวนโครงสร้างของหูชั้นในทำให้เวียนศีรษะคลื่นไส้และอาเจียน

อาการเมาค้าง
หลังจากงานปาร์ตี้สุดเหวี่ยง แอลกอฮอล์ที่ดื่มในปริมาณมากจะถูกเปลี่ยนเป็นของเสียที่รอขับออกทางปัสสาวะและได้ถูกสะสมตามร่างกาย ซึ่งมีผลต่อออาการขาดน้ำ และการทำงานของฮอร์โมนต่างๆ จึงทำให้เกิดอาการเวียนหัว

พักผ่อนไม่เพียงพอ
เนื่องจากสมองขาดการพักผ่อนจึงทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงส่งผลต่อฮอร์โมนความเครียด (Cortisol) ทำให้อารมณ์แปรปรวนง่าย เกิดความเครียด อาการไมเกรน เวียนหัว ปวดเบ้าตา

ใช้งานสายตาอย่างหนัก
การใช้สายตาเพ่งติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้ตาล้า ปวดตา ร่วมกับอาการเวียนหัวได้

การเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว
เช่น การนั่งหรือลุกขึ้นอย่างฉับพลัน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิตที่รุนแรง พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

ผลข้างเคียงของการใช้ยา
เช่น ยาที่ใช้ในการรักษาโรคลมบ้าหมู โรคหลอดเลือดหัวใจและความดันโลหิตสูงอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนหัวในคนไข้บางราย

ความเครียดวิตกกังวล
การตอบสนองต่อสถานการณ์ที่กดดันท้าทาย ความเครียดสมองจะปล่อยฮอร์โมนความเครียด (Cortisol) ซึ่งมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด โดยฮอร์โมนนี้ทำให้หลอดเลือดแคบลง อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ทำให้หายใจเร็วและถี่ขึ้น จนเกิดอาการเวียนหัว

การปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ
อุณหภูมิที่สุดขั้วอย่างเย็นจัด จะทำให้เส้นเลือดบริเวณหัวหรือขมับหดตัวลง จึงเกิดอาการเวียนหัวหรือปวดหัวได้ เช่น การอาบน้ำเย็นจัด การกินน้ำแข็งหรือเครื่องดื่มเย็นจัด หรือการอยู่สลับสับเปลี่ยนระหว่างอากาศในห้องแอร์กับอากาศภายนอกอาคารที่แดดจ้าร้อนระอุ เป็นต้น

จากสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย
เช่น ก๊าซพิษคาร์บอนมอนอกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์จากท่อไอเสียรถยนต์ หากสูดดมจนเกิดค่ามาตรฐานจะทำให้เกิดอาการเวียนหัว และคลื่นไส้ได้

สาเหตุที่เกิดจากความผิดปกติภายในร่างกาย
เกิดความผิดปกติของหูชั้นใน
ความผิดปกติของหูชั้นในเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของอาการวิงเวียนหัวเรื้อรัง เช่น อาการน้ำในหูไม่เท่ากัน

จากการติดเชื้อหรืออาการเจ็บป่วย
เช่น หากติดเชื้อไวรัสไข้หวัดเป็นระยะเวลานานเป็นสัปดาห์ อาจจะทำให้ไวรัสลุกลามไปที่หูและเส้นประสาทการได้ยินจนเกิดอาการเวียนหัวรุนแรงนานหลายวันได้

เกิดความผิดปกติของสมอง
เช่น การเกิดเนื้องอกในสมอง การที่บริเวณหัวเคยได้รับบาดเจ็บ เช่น การกระแทกอย่างรุนแรง กระดูกกะโหลกแตกหัก เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เป็นต้น

มีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดอย่างเฉียบพลัน
เช่น หัวใจเต้นเร็วอย่างผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของ โรคเส้นเลือดตีบหรืออุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อาการหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมองตีบ ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว

การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน
วัยหมดประจำเดือน (Menopause) จะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเริ่มขาดสมดุล โดยเฉพาะความแปรปรวนของฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน

โรคโลหิตจาง
ทำให้ร่างกายมีภาวะเม็ดเลือดแดงที่มีลักษณะไม่สมบูรณ์ หรือปริมาณที่ไม่เพียงพอที่จะลำเลียงออกซิเจน ทำให้หลอดเลือดสมองขยายตัว เกิดอาการเวียนหัว หากขาดออกซิเจนขั้นรุนแรงจะทำให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxia) ได้

อาการไมเกรน
เริ่มจากการเวียนหัวไปจนถึงปวดหัวอย่างรุนแรง โดยสาเหตุมาจากความเครียด การเห็นแสงจ้า หรือได้ยินเสียงจากบางสิ่งรบกวน

แพ้ท้อง
อาการเวียนหัว จากการแพ้ท้อง จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลียเหนื่อยง่าย หรืออาจเกิดภาวะ Hyperosmia หรืออาการแปรปรวนด้านการรับรสและกลิ่นสูงขึ้นร่วมด้วย ส่วนใหญ่อาการดังกล่าวนี้จะเกิดในช่วงประมาณ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และจะเกิดตอนตื่นนอน (Morning Sickness) โดยมีหลายสาเหตุ เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ และระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเอชซีจี (HCG – Human Chorionic Gonadotropin) ที่รกสร้างสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความรู้สึกไวต่อกลิ่นและแปรปรวนในการประมวลผลกลิ่น

การดูแลและป้องกันอาการเวียนหัวเบื้องต้น

  1. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการเวียนหัวเรื้อรัง เช่น ความเครียดวิตกกังวล การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การรับสารก่อภูมิแพ้จากการกินอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือจากสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย เป็นต้น
  2. หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม หวานมัน รสจัดหรือเย็นจัด หรือการรับสารคาเฟอีน เช่น ชา น้ำอัดลม กาแฟ การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด
  3. ออกกำลังกายและบริหารประสาทการทรงตัวอย่างสม่ำเสมอ
  4. หลีกเลี่ยงสถานที่เสียงดัง และกิจกรรมที่กระทบกระเทือนบริเวณหู
  5. ก่อนการใช้ยาเพื่อการรักษาโรคอย่างถูกต้องและปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  6. หากมีอาการเวียนหัวบ่อยๆ จนนำไปสู่การคลื่นไส้อาเจียน เป็นลม เจ็บหน้าอก ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพและทำการวินิจฉัย